ซิลิคอนวัลเลย์เมืองเทคที่ขับเคลื่อนด้วยโรงเรียนเทศบาล

Written by:


“แม้แต่ไอน์สไตน์ยังถามเลย”


เป็นข้อความในรูปโปสเตอร์ที่ติดไว้เกือบทุกห้องเรียนในโรงเรียนเทศบาลในซิลิคอนวัลเลย์


เพราะที่นั่นไม่มีแบ่ง “สายวิทย์” หรือ “สายศิลป์” สามารถเลือกวิชาเรียนได้ตามใจ แบบว่าอยากทำอะไรก็ทำ!


เรื่องนี้ผมอ่านเจอจากหนังสือ รู รัง เรือน ของคุณยรรยง


ซิลิคอนวัลเลย์ไม่ได้ล้ำสมัยอย่างที่คิด


คุณยรรยงเริ่มต้นบทด้วยการตั้งคำถามว่าประเทศที่มีเมืองล้ำระดับที่เรียกว่า Smart City


หลายเมืองในโลกทำไมถึงไม่สามารถสร้างปราฎการณ์เปลี่ยนโลกได้เหมือนที่ซิลิคอนวัลเลย์



ทั้งๆ ที่ซิลิคอนวัลเลย์เนี่ยมันมีแค่รถไฟเก่าๆ จากยุค 70s เน็ตก็ช้ากว่าชาวบ้านชาวช่องแถวเอเชีย


กองทุนสตาร์ทอัพก็ไม่ได้มีเยอะกว่าประเทศอื่นๆ


อีกความน่าสนใจก็คือบริษัทระดับเปลี่ยนโลกที่เกิดขึ้นที่ซิลิคอนวัลเลย์ส่วนใหญ่ผู้ก่อตั้งไม่ใช่คนอเมริกา


ไม่ว่าจะเป็น Yahoo! eBay หรือขนาด Apple จริงๆ พ่อของสตีฟ จ๊อบส์ก็เป็นชาวซีเรียนู่น แต่มาเรียนและเติบโตที่อเมริกา


ผมอ่านแล้วคิดตามก็ได้แต่เอ๊ะ จริงด้วยแฮะ แล้วอะไรทำให้ซิลิคอนวัลเลย์เป็นศูนย์กลางเทคโลกได้


คำตอบที่คุณยรรยงให้ก็คือ



“โรงเรียนเทศบาลชั้นดี” ที่เรียนฟรี!


โรงเรียนเทศบาลชั้นดีนี่แหละที่เป็นตัวขับเคลื่อนซิลคอนวัลเลย์ให้ยิ่งใหญ่


เพราะสามารถสร้างคนคุณภาพเก่งๆ เข้าสู่ระบบได้มากมาย


และที่ทำแบบนั้นก็เพราะเค้าเก็บภาษีเข้าเมืองไปเลย ไม่เข้าส่วนกลาง


คือเรียกว่าใครอยู่เมืองนั้นก็จ่ายภาษีเข้าเมืองไป เอาไปสร้างโรงเรียน สร้างห้องสมุดดีๆ 


พอเป็นแบบนั้นเมืองไหนดึงคนเก่งมาทำงานได้มาก ก็สร้างรากฐานการเงินได้ดี


แล้วมีเงินไปสนับสนุนโรงเรียน ห้องสมุด เพื่อสร้างคนเก่งรุ่นใหม่วนไปเรื่อยๆ ได้ไม่รู้จบ


และที่สำคัญเด็กนักเรียนจนๆ แต่มีแนวคิดใหม่ๆ ก็สามารถเข้าถึงการศึกษาดีๆ ได้แบบไม่ต้องง้อกยศ. (เหมือนผม)


ความน่าสนใจอีกอย่างที่ได้รู้ก็คือ คะแนนสอบเฉลี่ยของเด็กที่เรียนในโรงเรียนเทศบาลของอเมริกาเนี่ยห่างจากไทยนิดเดียว


ไม่ต้องไปเทียบสิงคโปร์ เกาลี ฮ่องกงเลย ขอบอกว่าคะแนนของอเมริกาต่ำกว่าเยอะ


แต่สิ่งที่แตกต่างคือการเปิดประตูให้คนไม่เก่ง กล้าที่จะคิดต่างและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา


หรือเรียกง่ายๆ ว่าให้เสรีภาพทางความคิด เลยไม่ต้องแปลกใจว่าประเทศที่ดูจะเรียนเก่งม๊าก


อย่างเกาหลี สิงคโปร์ หรือฮ่องกงไม่ค่อยมีใครได้สร้างนวัตกรรมในประเทศตัวเองนัก


โรงเรียนเทศบาลแถวซิลิคอนวัลเลย์ให้ความสำคัญคือการเชิญชวนให้เด็กตั้งคำถามกับผู้ใหญ่


โดยที่ถ้าเดินไปตามห้องเรียนต่างๆ ก็จะเห็นโปสเตอร์ไอน์สไตน์ พร้อมคำพูดที่ว่า “แม้แต่ไอน์สไตน์ยังถามเลย”


หรือถ้าเดินไปอีกนิดก็จะเจอภาพวาดเนลสัน แมนเดลาพร้อมคำพูดที่ว่า


“การศึกษาคืออาวุธที่รุนแรงที่สุด ที่คุณจะเอาไว้เปลี่ยนแปลงโลก”


พออ่านมาถึงตรงนี้ก็เห็นด้วยกับบทสรุปของคุณยรรยงที่ว่า


จริงๆ การที่คนเอเชียไปสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลกทั้งหลายห่างไกลบ้านตัวเองถึงซิลลิคอนวัลเลย์


อาจไม่ใช่เพราะที่นั่นมีตึกทันสมัย หรืออินเตอร์แรงแซงหน้าชาวโลกหรอก


แต่มันอาจเป็นแค่เรื่องเล็กๆ ทางวัฒนธรรมที่ยอมรับการถกเถียงระหว่างผู้ใหญ่และเด็ก – ทฤษฏีเก่าและใหม่ต่างหาก


อ่านมาถึงตรงนี้มองกลับมาที่เรื่องของเด็ก ผู้ใหญ่บ้านเรา คุณคิดยังไงกันบ้างครับ?

Leave a comment